สมการบัญชี คืออะไร? ทำไม 2 ฝั่งต้องเท่ากันเสมอ

Published

Modified

สมการบัญชี คือ อะไร สมการบัญชี 5 หมวด

สมการบัญชี (Accounting Equation) เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในระบบบัญชีแบบคู่ (Double-Entry Accounting) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสมดุลของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของของธุรกิจ ซึ่งหลายคนรู้ว่าทั้ง 2 ฝั่งต้องเท่ากันเสมอ แต่รู้หรือไม่ว่าทำไมทั้ง 2 ด้านของสมการบัญชีจะต้องเท่ากัน

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจพื้นฐานของสมการบัญชี และเหตุผลที่ทั้ง 2 ด้านของสมการเท่ากันและสัมพันธ์กัน ตลอดจนการใช้สมการบัญชีในการประเมินงบการเงินเบื้องต้น

สมการบัญชี คืออะไร?

สมการบัญชี (Accounting Equation) เป็นสมการที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 3 ส่วนของงบแสดงฐานะการเงิน ได้แก่ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ โดยเขียนในรูปสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

โดยที่แต่ละส่วนของงบแสดงฐานะการเงินมีความหมายดังนี้

  • สินทรัพย์ (Assets) คือทรัพยากรในความควบคุมของธุรกิจที่ได้มาจากเหตุการณ์ในอดีต (ซื้อมา) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคตผ่านการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ
  • หนี้สิน (Liabilities) คือภาระผูกพันในปัจจุบันที่ธุรกิจมีภาระในการที่จะต้องชำระคืน (ซึ่งจะทำให้สูญเสียทรัพยากร ในการใช้คืนหนี้)
  • ส่วนของเจ้าของ (Equities) คือส่วนได้เสียของเจ้าของกิจการ ที่เป็นส่วนคงเหลือหลังจากหักหนี้สินออกจากสินทรัพย์

ซึ่งความสัมพันธ์ของสมการบัญชีดังกล่าว หมายความว่า สินทรัพย์ของกิจการจะต้องเท่ากับหนี้สินรวมกับส่วนของเจ้าของเสมอ

ทำไม 2 ฝั่งของสมการบัญชีต้องเท่ากันเสมอ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ธุรกิจจะได้มาซึ่งสินทรัพย์อะไรก็ตามอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเข้ามา

และการที่จะซื้อสินทรัพย์นั้นได้ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีเงิน ซึ่งแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ซื้อสินทรัพย์เข้ามาในบริษัทมีอยู่ 2 ทาง คือ เงินของเจ้าของธุรกิจ (เราเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ) และเงินกู้ (เราเรียกว่า หนี้สิน)

สมการบัญชีจึงเป็นสิ่งที่บอกว่า สินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจ มาจากเงินกู้เท่าไหร่ และมาจากเงินทุนของเจ้าของธุรกิจเท่าไหร่

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมทั้ง 2 ฝั่งของสมการบัญชีจึงต้องเท่ากันอยู่เสมอ

เพราะการที่สินทรัพย์มากกว่าหนี้สินรวมกับส่วนของเจ้าของ ย่อมหมายถึงสินทรัพย์ในส่วนต่างได้มาแบบไม่มีที่มา และในกรณีที่สินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินรวมกับส่วนของเจ้าของ นั่นหมายความว่าเงินของธุรกิจหายไป!

แม้ว่า ตามปกติแล้วการที่ทั้ง 2 ฝั่งของสมการมีค่าไม่เท่ากันมักเกิดจากการบันทึกบัญชีผิดก็ตาม

สมการบัญชีบอกอะไร

นอกจากการบ่งบอกความผิดปกติที่พบเจอได้ยากในชีวิตประจำวันที่กล่าวถึงข้างต้น และการบอกว่าคุณบันทึกบัญชีถูกต้องหรือไม่แล้ว

สิ่งที่สมการบัญชีสามารถบอกได้ในเบื้องต้น คือ การแจกแจงแหล่งที่มาของสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินในเบื้องต้นว่ามีสัดส่วนมาจากหนี้สินและส่วนของเจ้าของมากน้อยแค่ไหน

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นคือ ทำให้เห็นว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทนี้มาจากการสร้างหนี้สินหรือกู้เงินมาซื้อสินทรัพย์ เพื่อวิเคราะห์ในขั้นต่อไปอย่างละเอียดว่าหนี้สินดังกล่าวเป็นหนี้สินจากอะไร บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องกู้หนี้ดังกล่าวหรือไม่ ทำไมบริษัทจึงมีหนี้สินในสัดส่วนดังกล่าว ตลอดจนการเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน

สมการบัญชีกับงบกำไรขาดทุน

แม้ว่าสมการบัญชีจะแสดงสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นรายการที่แสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน แต่เมื่อธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนจะทำให้งบแสดงฐานะการเงินเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้สมการบัญชียังสามารถใช้เพื่อติดตามความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ (Income) และค่าใช้จ่าย (Expenses) ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น แต่เดิมบริษัทมีสินทรัพย์ 100,000 บาท โดยที่ 80,000 บาทมาจากการก่อหนี้ (หนี้สิน) และ 20,000 บาทมาจากส่วนของเจ้าของ 1 ปีผ่านไป บริษัทมีรายได้ 60,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ 50,000 บาท

จากตัวอย่างหมายความว่า 1 ปีผ่านไปธุรกิจทำกำไรสุทธิได้ 10,000 บาท (สมมติว่าไม่มีภาษี) ซึ่งจะทำให้เงินสดของธุรกิจ (และ/หรือลูกหนี้การค้า) เพิ่มขึ้นตามกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ดังนั้น ณ วันสิ้นงวดบริษัทจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 บาท

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สมการบัญชีที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของกำไร/ขาดทุนของธุรกิจ จะเขียนได้ว่า สินทรัพย์ + ค่าใช้จ่าย = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ + รายได้

ซึ่งจากตัวอย่างก็คือ 110,000 + 50,000 = 80,000 + 20,000 + 60,000