Hype Cycle เครื่องมือวิเคราะห์เทคโนโลยีเกิดใหม่ จากเทรนด์ความ Hype

Published

Modified

Hype Cycle คือ วงจร ตัวอย่าง Gartner Hype Cycle Curve ทั้ง 5 ระยะ อธิบาย

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างทั้งจากผู้คนทั่วไปและจากสื่อที่ดูน่าตื่นเต้นหรือแม้กระทั่งฟังดูเกินจริง แท้อยู่ในช่วงไหนของการพัฒนาและน่าเชื่อถือเพียงพอแล้วหรือไม่ในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ ตลอดจนโอกาสในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเกิดใหม่

ในบทความนี้ feriors จะพาไปรู้จักกับวงจร Hype Cycle ที่คิดค้นขึ้นโดย Garner ที่จะช่วยแสดงให้เห็นถึงวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ถูกพัฒนาไปตามเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ

Hype Cycle คืออะไร?

Hype Cycle คือ วงจรความตื่นเต้นหรือความ Hype ที่ผู้คนมีต่อเทคโนโลยีใหม่โดยแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จัก จนความคาดหวังต่อเทคโนโลยีขึ้นสู่จุดสูงสุด แล้วความสนใจตกต่ำลง จนกระทั่งผู้บริโภครู้แล้วว่าเทคโนโลยีนี้มีไว้เพื่ออะไร และเทคโนโลยีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติสามัญที่พบได้ทั่วไปในท้ายที่สุด

Hype Cycle หรือชื่อเต็ม Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดย Jackie Fenn จาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นมาจากการใช้เป็นเครื่องมือประเมินเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในขั้นใดแล้ว มีความพร้อมอย่างไร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจในการลงทุนด้านเทคโนโลยีขององค์กรและสำหรับการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ผ่านการศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ณ ขณะนั้นผ่านบริบทของทั้ง 5 ระยะของ Hype Cycle

โดยทั้ง 5 ระยะของ Gartner Hype Cycle ได้แก่

  • Innovation Trigger คือ ระยะเริ่มต้นที่เทคโนโลยีถูกรับรู้
  • Peak of Inflated Expectations คือ จุดที่ระดับความ Hype ของเทคโนโลยีพุ่งขึ้นสูงสุด
  • Trough of Disillusionment คือ จุดที่ระดับความ Hype ลดลงต่ำสุด
  • Slope of Enlightenment คือ ระยะที่คนทั่วไปรู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของเทคโนโลยี
  • Plateau of Productivity คือ ระยะที่เทคโนโลยีถูกใช้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
Gartner Hype Cycle คือ วงจร ตัวอย่าง Gartner Hype Cycle Curve
ตัวอย่างรายงาน Gartner 2024 Hype Cycle for Emerging Technologies Highlights

การทราบถึงสถานการณ์ความคาดหวังต่อเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมผ่านกระแสความสนใจ เป็นสิ่งที่ช่วยในการประเมินกระแสความสนใจในปัจจุบันอยู่ในจุดใด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินความเสี่ยงด้านความพร้อมของเทคโนโลยีว่าองค์ควรให้ระดับความสำคัญในระดับใด ซึ่งจะช่วยตอบคำถามว่า 1) ควรเข้าไปตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือไม่ 2) ควรรออย่างใจเย็นให้เทคโนโลยีเติบโตอย่างเต็มที่หรือไม่ 3) หรือควรใช้แนวทางแบบเป็นกลาง

ทั้งนี้ ในแต่ละปี Gartner จะมาอัปเดต Hype Cycle ของเทคโนโลยีในแต่ละปีว่าเทคโนโลยีขณะนั้นอยู่ในจุดใดของ Hype Cycle ซึ่งสามารถติดตามได้ผ่าน Newsroom ของ Gartner

นอกจากนั้น ในปัจจุบัน Hype Cycle ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินกระแสต่าง ๆ ในแวดวงอื่น ๆ อย่างเช่น นักการตลาด และวงการโฆษณา เพื่อวัดความ Hype ของสิ่งที่กำลังเป็นกระแสว่าอยู่ในจุดใด

Innovation Trigger 😮

Innovation Trigger คือ ระยะเริ่มต้นของเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นช่วงเริ่มต้นที่เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นที่รู้จัก รับรู้การมีตัวตนอยู่ และถูกกล่าวถึง แต่โดยทั่วไปตัว Trigger ที่ทำให้เทคโนโลยีหนึ่งเข้าสู่ระยะเริ่มต้นที่เรียกว่า Innovation Trigger นี้มักเกิดขึ้นจากการประกาศเปิดตัวเทคโนโลยี ทำให้ส่วนใหญ่ในขั้นนี้เทคโนโลยีมักจะไม่มีความสามารถในการทำกำไร หรือแม้แต่ไม่มีตัว Product ที่สามารถใช้งานได้จริง (หรือใช้อยู่เพียงวงแคบ)

ในระยะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วง Proof-of-concept ที่จะถูกทดสอบความเป็นไปได้ว่านวัตกรรมนั้นเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ สามารถใช้ได้จริงอย่างที่คิดหรือไม่อย่างไร เนื่องจากไม่มีรู้ถึงข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี หรือมีผู้รู้อยู่เพียงแค่กลุ่มผู้มีความรู้เฉพาะทาง

Peak of Inflated Expectations 🤯

Peak of Inflated Expectations คือ จุดสูงสุดของความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากการโหมประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกที่นำเสนอแต่ด้านบวก นวัตกรรม ความสำเร็จ ความเป็นไปได้ที่มากมาย หรือจากการกล่าวถึงของคนทั่วไปอย่างท่วมท้นที่เกิดขึ้นจากความตื่นเต้นหรือความคาดหวังกับเทคโนโลยีที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปก็ตาม

กล่าวคือ นี่คือจุดสูงสุดของความ Hype

ในขั้นนี้หากเทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถไปต่อได้ก็จะเผชิญความล้มเหลวและหายไปพร้อมกับกระแสที่ค่อย ๆ จืดจางไปตามเวลาที่ผ่านไป ในขณะที่เทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความคาดหวังได้ก็จะไปถึงจุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว (ซึ่งมักเป็นส่วนน้อย)

Trough of Disillusionment 🥱

Trough of Disillusionment คือ ช่วงที่ความสนใจที่ผู้คนมีต่อเทคโนโลยีลดลงจากการที่ได้ทดลองและใช้งานจริงแล้วพบว่าเทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถส่งมอบผลลัพธ์ที่ต้องการได้ หรือยังยากที่จะนำมาใช้งานจริง อีกทั้งในฝั่งสื่อเองก็หมดเรื่องให้เล่นข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้แล้ว

ในขั้น Trough of Disillusionment ของ Hype Cycle จะเกิดทางแยกระหว่างการล้มหายตายจากที่เกิดจากความล้มเหลวของเทคโนโลยี กับการพยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในกลุ่ม Early Adopters ที่เป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยีในระยะเริ่มต้นซึ่งมองเห็นปัญหาที่ควรปรับปรุงแก้ไข

นอกจากนั้น เทคโนโลยีที่มาก่อนกาล ล้ำหน้าเกินไป เกินกว่าที่ผู้บริโภคจะนำไปใช้ประโยชน์ ก็อาจกลายเป็นเทคโนโลยีไม่สามารถรอดไปจาก Stage นี้เช่นกัน

Slope of Enlightenment 😇

Slope of Enlightenment คือ ขั้นที่ผู้บริโภครู้แล้วว่าเทคโนโลยีนี้มีไว้เพื่ออะไร สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ ในสถานการณ์แบบไหนที่ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ กล่าวคือ เป็นจุดที่ผลิตภัณฑ์เริ่มมีตลาดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ แล้ว

อีกทั้งในขั้นนี้ผลิตภัณฑ์จะถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 ขึ้นที่ 3 เพื่อต่อยอดให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ตาม Feedback ของกลุ่ม Early Adopters ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นแรก

ในกรณีที่เป็นเทคโนโลยีระดับองค์กร องค์กรจะเริ่มเปิดรับเทคโลยีเหล่านี้ อย่างไรก็ตามองค์กรที่ดำเนินงานแบบ Conservative จะยังคงระมัดระวังและดูสถานการณ์ไปก่อน

Plateau of Productivity 🚀

Plateau of Productivity คือ ช่วงที่เทคโนโลยีประเภทดังกล่าวเริ่มถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย (Mainstream Adoption) ส่งผลให้ตลาดเริ่มใหญ่ขึ้น

เป็นขั้นสุดท้ายของ Hype Cycle ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เทคโนโลยีที่เคยเป็นนวัตกรรมล้ำยุคมาก่อนจะกลายเป็นของสามัญธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งมักจะถูกเรียกอย่างตื่นเต้นว่า “New S Curve”

เมื่อถึงจุดนี้จะเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินความสามารถของผู้ให้บริการหรือผู้ขายเทคโนโลยีนั้น ๆ ว่าจะต้อง … หรือจะต้องไม่ … จึงจะเป็นเทคโนโลยีในระดับมาตรฐานที่รับได้หรือไม่ได้

ข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนนำ Hype Cycle ไปใช้

Hype Cycle ของ Gartner เป็นงานที่ถูกวิจารณ์กับการนิยามที่ชัดเจนของคำอย่าง Disillusionment, Enlightenment และ Expectations ซึ่งเป็นคำประเภทอัตวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถสรุปออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งสิ่งที่เกิดใน Hype Cycle ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยี และไม่มีข้อมูลหรือการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์รองรับ

นอกจากนี้ The Economist ยังได้วิจัยเกี่ยวกับ Hype Cycle ในปี 2024 โดยพบว่า Cycle ในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยครั้ง เทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นไปตาม Hype Cycle ที่เริ่มต้นจากการเป็นนวัตกรรม เปลี่ยนไปสู่การ Hype ขั้นสูงสุด ก่อนที่จะได้รับความสนใจน้อยลง และเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างกว้างขวางมีอยู่เพียงแค่ประมาณ 1 ใน 5 เท่านั้น

The Economist พบว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็นต้องผ่านเส้นทางขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกับ Gartner Curve ด้านบน ในขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทยังดิ่งจากจุดสูงสุดสู่การล่มสลายโดยไม่ฟื้นตัวอีกเลย อีกทั้งประมาณ 60% ของเทคโนโลยีที่ตกลงไปยังจุด Trough of Disillusionment ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลย


ข้อมูลอ้างอิงจาก