มีอัตราส่วนทางการเงินหลายอัตราส่วนที่ใช้ในการวัดสภาพคล่อง Debt Service Ratio หรือ DSR เองก็เป็นอัตราส่วนทางการเงินหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลและธุรกิจโดยผู้กู้อย่างเช่นธนาคารและสถาบันการเงิน
ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ Debt Service Ratio (DSR) หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ ว่าคืออะไร และสามารถใช้ในการวัดสภาพคล่องได้อย่างไร ตลอดจนการประยุกต์ใช้ DSR ในภาพรวมของเศรษฐกิจเพื่อประเมินสภาพคล่องโดยรวมของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง
Debt Service Ratio คืออะไร?
Debt Service Ratio หรือ DSR คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้สำหรับการประเมินสัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ของบุคคล (หรือบริษัท) ที่สะท้อนถึงภาระในการชำระหนี้ที่มีอยู่ของบุคคลหนึ่ง
Debt Service Ratio จึงเป็นตัวเลขที่ใช้ในการแสดงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยตัวเลข DSR สูงบ่งชี้ว่าภาระหนี้มีสัดส่วนที่ใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ในอีกแง่หนึ่ง Debt Service Ratio จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความสามารถในการกู้ยืม
ในมุมมองของธนาคารและสถาบันการเงิน DSR จึงเป็นตัวเลขที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเมื่อคุณยื่นขอสินเชื่อ เพื่อประเมินความสามารถในการจ่ายหนี้ของคุณและควบคุมไว้เพื่อให้ปริมาณหนี้ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ลูกหนี้ต้องใช้ในการดำรงชีพ เพื่อป้องกันลูกหนี้ขาดสภาพคล่องและลุกลามไปสู่ปัญหาการชำระหนี้ของลูกหนี้ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันสถานะทางการเงินของลูกหนี้จะยังปกติดีก็ตาม
วิธีคำนวณ DSR
การคำนวณค่า Debt Service Ratio จะคำนวณมาจาก ค่าใช้จ่ายในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยต่อเดือน ÷ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน x 100
ผลลัพธ์ของการคำนวณ DSR จะออกมาเป็นจำนวน “เปอร์เซ็นต์” ที่หมายถึง ปัจจุบันคุณมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ่ายหนี้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับค่า DSR ที่รับได้ อย่างเช่น ค่า DSR ที่รับได้ของธนาคารที่คุณขอกู้
- ค่า DSR ที่สูง หมายถึง ในแต่ละเดือนผู้กู้มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้ที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้
- ค่า DSR ที่ต่ำ หมายถึง ในแต่ละเดือนผู้กู้มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้ที่ต่ำเมื่อเทียบกับรายได้
ดังนั้นแล้ว โดยทั่วไป DSR ที่ต่ำกว่าจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะแสดงว่าคุณมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้เมื่อเทียบกับรายได้ของคุณ และระดับที่เหมาะสมของแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตและสถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมของแต่ละคน
การใช้งาน DSR ของสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เงินไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ จะใช้ Debt Service Ratio หรือ DSR ของผู้กู้เพื่อการประเมินว่าผู้กู้มีภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้กู้ ซึ่งตัวเลข DSR จะส่งผลต่อคุณที่กำลังจะกู้เงินใน 2 ประเด็นหลัก คือ
- จะยอมให้คุณกู้เงิน หรือ ไม่ยอมให้กู้เงิน
- ให้ผ่อนกี่ % ของรายได้ (ในกรณีที่ธนาคารให้กู้)
ซึ่งเพดานของ DSR ที่ธนาคารจะรับได้จากผู้กู้ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้ อย่างเช่น กู้จากธนาคารไหน กู้เงินไปเพื่อทำอะไร มีระยะเวลาในการผ่อนนานแค่ไหน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
แต่โดยทั่วไปเพดานตัวเลข DSR จะอยู่ที่ประมาณ 40% และในบางกรณีการที่คุณมีรายได้สูงจะช่วยขยายเพดานของค่า DSR ของคุณที่สถานบันการเกินรับได้ขึ้นอีกเล็กน้อย
Debit Service Ratio กับสภาพเศรษฐกิจ
ในมุมมองของสภาพเศรษฐกิจ หน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนสามารถใช้สถิติ Debit Service Ratio ในภาพรวมของเศรษฐกิจหนึ่งเพื่อประเมินสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากภาระหนี้สินของประชาชน
ค่า DSR ในภาพรวมของกลุ่มประชากรหนึ่ง อย่างเช่น ภูมิภาค จังหวัด หรือทั้งประเทศ จะทำให้เห็นว่าประชากรกลุ่มนั้นมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ่ายหนี้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน เพื่อใช้ประเมินสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการประเมินภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการลงทุนและการออกนโยบายกำกับดูแล